ฟรีแลนซ์ คืออะไร ?

ยุคสมัยนี้ หันหน้าไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึงฟรีแลนซ์ อาชีพฟรีแลนซ์กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่ เพราะแค่ได้ยินว่า ตื่นนอนตอนไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ไปตอกบัตร ฝ่ารถติดตอนเช้า  จนทำให้มีหนังสือการลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ให้เห็นเต็มแผง แถมยังขายดิบขายดีเทน้ำเทท่าเป็นว่าเล่น

แต่เห็นเรียกว่าฟรีแลนซ์กันจนติดปาก แล้วคำว่าฟรีแลนซ์นี้มีที่มาอย่างไร .. 

          คำว่า “Freelance” ถูกใช้ครั้งแรก ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ชื่อดังเรื่อง Ivanhoe แต่งโดย Sir Walter Scott  ในปี 1820 เป็นเรื่องราวในยุคกลางของอังกฤษ ซึ่งนิยายเรื่องนี้ได้กล่าวถึงฟรีแลนซ์ ว่าคืออัศวินที่ถือหอกต่อสู้บนหลังม้าโดยไม่ได้สังกัดกับขุนนางใดๆ เลือกรับจ้างต่อสู้ตามความต้องการของตน โดย Lance ในภาษาอังกฤษ นั้นแปลว่า ทวนหรือหอก พอนำคำมารวมกันก็กลายเป็นคำคุ้นหูอย่างคำว่าฟรีแลนซ์นั่นเอง

          ส่วนในปัจจุบันนั้น Freelance หรือ Freelancer ก็คือผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานองค์กรใดๆ พนักงานฟรีแลนซ์จะต้องจัดตารางเวลาการทำงานของตนเอง และรับเงินจากผู้ว่าจ้าง ซึ่งตกลงตามความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย

          ในปี 2015 ประเทศสหรัฐอเมริกา  มีสัดส่วนของชาวฟรีแลนซ์สูงถึง 54 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 34% ของประชากรเลยทีเดียว โดยอ้างอิงจากผลสำรวจ ที่มีชื่อว่า Freelancing in America : 2015 จัดทำโดย Edelman Berland ซึ่งผลสำรวจนี้ได้แบ่งประเภทชาวฟรีแลนซ์ออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

 

1.  Independent Contractors

คือ พวกที่รับจ้างงานเป็น project ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดา feeelancer คิดเป็น 36%

2.  Moonlighters

คือ ผู้ที่มีงานประจำอยู่แล้ว แต่มาทำงานฟรีแลนซ์เป็นอาชีพเสริม หรือเรียกกันว่าทำฝิ่น ส่วนคำว่า Moonlighters สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมาจากการนั่งทำงานหามรุ่งหามค่ำในตอนกลางคืนนั่นเอง ฟรีแลนซ์ประเภทนี้มี 25% ของฟรีแลนซ์ในอเมริกาทั้งหมด

3.  Diversified Workers

คือ กลุ่มคนที่หารายได้จากหลายทาง เช่น สมศรีขายของที่ตลาดตอนเช้า ตอนบ่ายมาเขียนบทความอิสระ พอตกเย็นก็ไปขับ Uber ฟรีแลนซ์ประเภทนี้  มีราวๆ 26%

4.  Temporary Workers

คือ กลุ่มคนที่ทำงานเหมือนงานประจำ แต่แค่ชั่วคราว อธิบายง่ายๆกว่า ฟรีแลนซ์ที่รับงานจากลูกค้าเพียงคนเดียว ผูกมัดไว้เป็นระยะเวลาสั้นๆ 3-4 เดือน ซึ่งฟรีแลนซ์ประเภทนี้มีสัดส่วนเป็น 9%

5.  Freelance Business Owner

คือกลุ่มคนที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ แต่ก็จ้างฟรีแลนซ์คนอื่นมาทำงานด้วย เช่น วรรณีเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด (Marketing Guru) โดนจ้างไปทำแคมเปญการตลาดให้บริษัทหนึ่ง วรรณีก็จ้าง Freelance คนอื่นๆมาร่วมทีมด้วย เช่น Freelance Pr ในบ้านเราอาจเรียกวรรณีว่าเป็น agency หรือ ผู้รับเหมา ซึ่งฟรีแลนซ์ประเภทนี้มีสัดส่วนเป็น 5 % เท่านั้น

  ถึงแม้ว่าผลสำรวจนี้จะเป็นการสำรวจจากประชากรในสหรัฐอเมริกา แต่ในเมืองไทยเองก็เริ่มมีฟรีแลนซ์ประเภทต่างๆ เหล่านี้ให้เห็นอยู่บ้างประปราย โดยเฉพาะประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งมีให้เห็นค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนรู้จัก นับว่าอาชีพฟรีแลนซ์นั้นเป็นที่นิยมในบ้านเราไม่น้อยเลยทีเดียว

          ทั้งนี้ ก่อนที่ใครคิดจะลาออกมาสู่สังเวียนฟรีแลนซ์ ก็ขอให้คิดดูดีๆ เพราะทั้งรายได้ที่ไม่มั่นคง บางเดือนก็มีงานมาก บางเดือนก็ว่างแสนว่าง แล้วไหนจะไม่มีสวัสดิการ เมื่อป่วยก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ไม่มีโบนัสเหมือนพนักงานบริษัททั่วไป แถมยังต้องเสียภาษีแบบเดียวกับมนุษย์เงินเดือนอีกด้วย นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาเงินๆทองๆ ที่อาจจะโดนโกง  หรือได้เงินล่าช้า สารพัดปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องกลับมาทบทวนให้ดีเช่นเดียวกัน

          แม้ว่าการเป็นฟรีแลนซ์อาจจะมีข้อด้อยอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ทำให้คนเป็นฟรีแลนซ์กันมากมาย ก็เพราะอิสระเสรี  ที่ฟรีสมชื่อ จะตื่นตอนไหนก็ได้ ทำงานตอนดึกก็แสนเงียบสงบ ไปพักร้อนวันธรรมดา คนก็น้อย ไม่ต้องเบียดเสียดแย่งกับใคร ตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรมก็แสนถูก  ทุกที่คือออฟฟิศ โลกทั้งใบนี้คือโต๊ะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟอีกซีกโลก ริมทะเล บนภูเขา ที่ไม่จำกัดแค่โต๊ะทำงานและคอกเหลี่ยมๆ อีกต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

7 เว็บไซต์ยอดนิยม สำหรับคนที่อยากทำงานฟรีแลนซ์!

What is Freelance?